สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี

 
 
คนทำงานด้านเอดส์และวัณโรคร...

คนทำงานด้านเอดส์และวัณโรคร...

การบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยวัณโรคในเขตอีสานใต้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หวังผลความสำเร็จในการดูแลรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเรื้อรังกลุ่มนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 อุบลราชธานี ได้จัดการประชุมชี้แจงแผนการดำเนินงานเพื่อบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และวัณโรค แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านเอดส์และวัณโรคของหน่วยบริการประจำทุกแห่งในจังหวัดมุกดาหาร, ยโสธร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ประมาณ 150 คน ณ เหลายารีสอร์ท จ.ตราด ระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2552 โดย นพ.ธีรพล เจนวิทยา ผอ.สปสช. เขต 10 อุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการประชุมและถ่ายทอดแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณพ.ศ. 2553 ได้เน้นหนักตัวชี้วัดด้านการเข้าถึงบริการ, ด้านคุณภาพการรักษา, และด้านประสิทธิภาพการจัดการ ทั้งนี้ ย้ำการให้ความสำคัญกับประชาชนคนไทยทุกสิทธิการรักษา นอกจากนั้น ระหว่างการประชุม ได้มีการนำเสนอผลงานดีเด่นที่ผ่านการคัดเลือกระดับเขตมาแล้ว จำนวน 14 เรื่อง ตัวอย่างเช่น การประเมินสุขภาพจิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ ผู้ป่วยเอดส์ ด้วยแบบประเมินความสุขของกรมสุขภาพจิต โดยรพ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ, การลดอัตราการเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านไวรัส โดยรพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี, การพัฒนาระบบบริการคลินิกภูมิคุ้มกัน โดยรพ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ, การเสริมพลังเพื่อการดูแลตนเองของผู้ป่วยที่กินยาต้านวัณโรค โดยรพ.วารินชำราบ, การดูแลแบบองค์รวมเพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านวัณโรคอย่างถูกต้อง ครบถ้วน สม่ำเสมอ โดยรพ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี, การพัฒนาคุณภาพระบบบริการและการดูแลผู้ป่วยวัณโรค โดย คปสอ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น ซึ่งกรรมการผู้วิพากษ์ ได้ชื่นชมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลงานหลายชิ้นถือเป็นตัวแบบของการปฏิบัติงานแบบ R2R (Routine-to-Research), บางชิ้นมีลักษณะพัฒนาคุณภาพประเภท FMEA (Failure Modes and Effect Analysis) และ Trigger Tool สามารถแสดงผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ให้บริการและผู้ป่วย ตลอดจนชุมชน จนปรากฏสัมฤทธิผลของการดูแลรักษาโรคและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน ผอ.ธีรพล ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การประชุมสรุปผลการดำเนินงานด้านเอดส์และวัณโรค เป็นการจัดการความรู้ครั้งสำคัญ ทำให้หน่วยบริการใน 5 จังหวัดอีสานตอนล่างได้เรียนรู้การพัฒนางานซึ่งกันและกัน เป็นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานเพื่อการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ ผู้ป่วยเอดส์และวัณโรคอย่างต่อเนื่องและมีเป้าหมายสืบไป



Project Manager: นางพรทิพย์  สาระบุตร
โทรศัพท์: 045-240591
มือถือ: 090-197-5236
E-mail: porntip.s@nhso.go.th
วันที่ลงข่าว: 03/11/2552