สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี

 
 
ประธานชมรมผู้ป่วยไตวายเรื้...

ประธานชมรมผู้ป่วยไตวายเรื้...

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2555 นายมงคล ปุษยตานนท์ ประธานชมรมเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต จ.อุบลราชธานี ได้เข้ายื่นหนังสือในนามตัวแทนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายวิทยา บุรณศิริ) ในระหว่างการตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานโครงการปลูกถ่ายไต ณ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ซึ่งเนื้อหามุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญต่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และพิจารณาข้อเสนอในการผลักดันให้โรงพยาบาลระดับอำเภอ มีหน่วยไตเทียมทุกอำเภอ เนื่องจากในปัจจุบันศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยไตวายของโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีข้อจำกัด ทั้งในด้านจำนวนแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ จำนวนเตียงในการรองรับผู้ป่วย และระยะทางที่ห่างไกล ทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจำนวนไม่น้อยต้องเดินทางมาใช้บริการที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัด ซึ่งผู้ป่วยบางคนต้องเดินทางไป-กลับไม่น้อยกว่า ๒๐๐ กิโลเมตร เพื่อมาทำการฟอกเลือดในแต่ละครั้ง โดยขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายด้านงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดสำหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ มีทางเลือกในการรักษา ซึ่งในปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกจัดให้เข้าอยู่ในกลุ่มการรักษาแบบฟอกเลือดทางช่องท้องเท่านั้น นอกจากนั้น ควรขยายสิทธิของผู้ป่วยระบบประกันสังคม ให้สามารถเข้าร่วมโครงการปลูกถ่ายอวัยวะได้เหมือนกับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ ร่วมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ แต่ต้องออกจากงานเนื่องจากต้องเข้ารักษาตัวด้วยการฟอกเลือด ๒-๓ ครั้ง/สัปดาห์ หรือเป็นความเข้าใจผิดของผู้จ้างว่าผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยต้องออกจากงานและเกิดปัญหาต่างๆตามมา ส่งเสริมให้มีแพทย์และพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญในด้านการรักษาและดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจำนวนแพทย์และพยาบาลมีไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ส่งเสริมให้โรงพยาบาลศูนย์แต่ละแห่ง ได้พัฒนาระบบการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังแบบครบวจร ตั้งแต่การจัดทำยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อป้องกันโรค การคัดกรองโรค การรักษาทั้งแบบฟอกเลือดทางช่องท้องและฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมไปถึงการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งในปัจจุบัน โรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่มีศักยภาพในการปลูกถ่ายอวัยวะได้ มักจะกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และในภาคอีสาน มีเพียง รพ. ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแห่งเดียวเท่านั้นที่สามารถปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะได้ (รพ. สรรพสิทธิประสงค์ เพิ่งเริ่มดำเนินการ) ทั้งที่มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ถึง ๑ ใน ๓ ของประเทศ เน้นการดำเนินงานในการรณรงค์เชิงป้องกัน ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง และรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงภัยของโรค และมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง รณรงค์ เชิญชวนให้มีการบริจาคอวัยวะให้แก่สภากาชาดไทย เนื่องจากการปลูกถ่ายไตเป็นความหวังแก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เป็นการทำกุศลอันยิ่งใหญ่และเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วย และผลักดันให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งจัดตั้งกองทุนสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดแต่ละครั้ง ค่าเดินทางมาพบแพทย์บ่อยครั้ง ค่ายาฉีดบำรุงเลือด ซึ่งผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน ขายทรัพย์สิน บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เพื่อใช้เป็นเงินทุนรักษาตัว หากรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือก็จะลดความเดือดร้อนของผู้ป่วยลงได้ หลังจาก รมต.สาธารณสุข ได้พบปะประธานชมรมฯและได้รับหนังสือแล้ว จะรับข้อเสนอไปพิจารณาต่อไป ............................................................



Project Manager: นส.มาริสา  บุญท้าว
โทรศัพท์: 045-240591
มือถือ: 090-197-5240
E-mail: marisa.b@nhso.go.th
วันที่ลงข่าว: 08/03/2555