สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี

 
 
สปสช.รุกแก้ปัญหา ?โรคพยาธิใบ...

สปสช.รุกแก้ปัญหา ?โรคพยาธิใบ...

สปสช.รุกแก้ปัญหา โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร่วม อปท. ตั้ง คณะทำงานฯ ประสาน อปท. สร้างความตระหนัก ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงเกิดโรค เผยแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี 1.4 หมื่นรายต่อปี ภาคอีสานพบมากที่สุด ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นอกจากช่วยให้ประชาชนผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าถึงการรักษาแล้ว การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญ ซึ่ง สปสช.ได้ให้การสนับสนุนและประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กองทุนสุขภาพตำบล) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งในปี 2557 นี้ สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณกองทุนสุขภาพตำบลที่ 45 บาทต่อประชากร นพ.วินัย กล่าวว่า โรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วยถึงร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับ และโรคนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งที่ผ่านมามีรายงานพบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีรายใหม่เฉลี่ย 14,000 คนต่อปี จำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ดังนั้น บอร์ด สปสช.จึงเห็นควรให้มีการแต่งตั้ง คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับท้องถิ่น ตามที่คณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์นำเสนอ ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี กล่าวว่า จากการนำเสนอข้อมูลสถิติโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ระหว่างปี 2545-2552 โดย ผศ.ณรงค์ ขันตีแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าในจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับ ร้อยละ 80 จะเป็นผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี แม้ว่าจะรักษาให้หายขาดได้ แต่มีจำนวนที่น้อยมาก เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มักมาพบแพทย์ในช่วงที่มะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย ขณะเดียวกันในการรักษายังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ส่งผลกต่อการรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับแบบซ้ำซาก เรื้อรัง ส่งผลให้ภาวะเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบท่อน้ำดีหนาตัว (Periductal fibrosis) ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เป็นคนอีสานโดยกำเนิด อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ มีพฤติกรรมกินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดแบบดิบๆ กินปลาร้าและของหมักดอง และมีญาติเป็นมะเร็งท่อน้ำดี นพ.จรัล กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นนี้จะเห็นว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภค จึงควรสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยและโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยใช้กลไกกองทุนสุขภาพตำบลส่งเสริมให้ อปท.มีส่วนร่วมทำให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักต่อโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ อปท.แต่ละพื้นที่สนับสนุนหน่วยบริการดำเนินการเพื่อคัดกรองและค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับผู้ป่วยได้



Project Manager: นส.มาริสา  บุญท้าว
โทรศัพท์: 045-240591
มือถือ: 090-197-5240
E-mail: marisa.b@nhso.go.th
วันที่ลงข่าว: 25/02/2558