สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี

 
 
บอร์ด สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน...

บอร์ด สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน...

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช nbspรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปี 2558 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช.ได้อนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านยาที่มีราคาสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลไปอีก 4 รายการ ซึ่งเป็นทั้งรายการยาใหม่ และรายการยาเดิมที่มีข้อบ่งใช้ ซึ่งทั้ง 4 รายการเป็นยาในกลุ่มบัญชี จ(2) ซึ่งเป็นยาจำเป็นที่มีราคาสูงมาก มีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก แต่มีปัญหาในการเข้าถึง มีความเหมาะสมในการใช้เพียงบางข้อบ่งใช้ มีแนวโน้มที่จะมีการใช้ยาไม่สมเหตุผล หากไม่มีระบบการจัดการเป็นพิเศษ และมีการกำกับดูแลการใช้ยาอย่างเข้มแข็ง ซึ่งจะส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และระบบหลักประกันสุขภาพได้ ซึ่งยาที่เพิ่มใหม่ 4 รายการ ได้แก่

1.ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) nbspเป็นยารักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น จากการศึกษาประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือไฮแทป (HITAP) พบว่า มีความคุ้มค่าเพราะช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยจาก 9.11 ปี เป็น 14.12 ปี โดยในปี 2558 ตั้งเป้าหมายการเข้าถึงของผู้ป่วย 175 ราย งบประมาณ 80.90 ล้านบาท และในปี 2559 ตั้งเป้าหมายการเข้าถึงผู้ป่วย 350ราย งบประมาณ 162.80 ล้านบาท ข้อมูลไตรมาส 1 ปี 58 มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ได้รักษาด้วยนี้ 99 ราย

2.ยานิโลทินิบ (Nilotinib) nbspยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาอิมาทินิบ (Imatinib) ที่เป็นยารักษาพื้นฐานได้ ข้อมูลไตรมาส 1 ปี 58 มีผู้ป่วยรายใหม่ได้รักษาด้วยยานี้ 404 ราย

3.ยาดาซาทินิบ (Dasatinib) nbspใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในรายที่ไม่สามารถใช้ยาอิมาทินิบและยานิโลทินิบได้ ข้อมูลไตรมาส 1 ปี 58 มีผู้ป่วยรายใหม่ได้รักษาด้วยยานี้ 37 ราย

4.ยาเพคอินเตอร์เฟอรอน (Peginterferon) nbspซึ่งอยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทองตั้งแต่ปี 2556 แล้ว แต่ในปี 2558 นี้ บอร์ด สปสช.มีมติขยายข้อบ่งใช้เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วย และผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สายพันธุ์ 1 หรือ 6 ซึ่งจากการศึกษาประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยไฮแทป พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบประคับประคองจะสามารถประหยัดงบประมาณภายใน 5 ปี ได้ถึง 317 ล้านบาท โดยประมาณ ในขณะกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สายพันธุ์ 1 หรือ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบประคับประคอง จะสามารถประหยัดงบประมาณภายใน 5 ปี ได้ถึง 678 ล้านบาท โดยประมาณค่ายาและค่าตรวจจะอยู่ที่ 88,904,400 ล้านบาท ข้อมูลไตรมาส 1 ปี 58 มีผู้ป่วยรายใหม่ได้รักษาด้วยยานี้ 548 ราย

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเป็นปีแรกที่บอร์ด สปสช.อนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์ ยา จ(2) ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนถึงปัจจุบันนั้น สิทธิประโยชน์ครอบคลุมยาราคาแพง 17 รายการ และในแต่ละปีมีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดในปี 2557 มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา จ(2) 12,863 ราย รวมตั้งแต่ปี 2552 มีผู้ป่วยได้รักษาด้วยยา จ(2) จำนวน 41,837 ราย ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ต้องล้มละลายจากการต้องจ่ายเงินจำนวนมากในการซื้อยาราคาแพง ขณะเดียวกัน จากการศึกษาประเมินของทางไฮแทปยังพบว่า ระหว่างผู้ป่วยที่ใช้ยาข้างต้นกับการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง การใช้ยาข้างต้นสามารถประหยัดงบประมาณค่ารักษาได้มากกว่า และยังมีความคุ้มค่าช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น

พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ nbspผู้ช่วยผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี ประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการโรคมะเร็งโดยการจัดทำแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง (Protocol) เพื่อประกอบการจ่ายชดเชยค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับ ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) นั้น เป็นยามุ่งเป้า Targeted therapy ตัวใหม่ ที่บอร์ด สปสช.เพิ่มสิทธิ ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตร์หมายใหม่ที่ดีมาก เนื่องจากยานี้ เป็นยาในบัญชียา จ (2) nbspใช้ในมะเร็งเต้านมระยะแรกที่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองเป็นบวก และมี HER2 เป็นบวก ซึ่งสปสช.ก็ได้ไปต่อรองราคายาลงมาได้ถูกลงจากราคาเดิมประมาณ 40% nbspถือได้ว่ามาตรฐานการรักษาผู้ป่วยมะเร็งของบ้านเราก็ก้าวขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับแต่ก่อนเราจะเห็นคนไข้มาหาแพทย์ในระยะท้ายๆ ระยะที่ 3 หรือ 4 ปัจจุบันสามารถรักษามะเร็งเต้านมระยะแรกที่มีต่อมน้ำเหลืองเป็นบวกได้ดีขึ้น nbsp



Project Manager: นส.มาริสา  บุญท้าว
โทรศัพท์: 045-240591
มือถือ: 090-197-5240
E-mail: marisa.b@nhso.go.th
วันที่ลงข่าว: 21/07/2558