สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี

 
 
สปสช.ชวนหน่วยบริการปลอดข้อร...

สปสช.ชวนหน่วยบริการปลอดข้อร...

จากการทบทวนผลการรับฟังข้อร้องเรียน ร้องทุกข์ในการใช้บริการของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพในเขตอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร และมุกดาหาร พบว่า มีปัญหาประชาชนไม่ได้รับบริการตามสิทธิที่กำหนด และโรงพยาบาลไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน อยู่บ้าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๑๐ อุบลราชธานี จึงได้จัดสัมมนาและประชุมวิชาการในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๒ โดยในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองสิทธิของแต่ละหน่วยบริการได้ร่วมสัมมนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่กับคณะเจ้าหน้าที่สปสช. ณ ห้องประชุม สปสช. เขต ๑๐ อุบลราชธานี ประเด็นความภาคภูมิใจ คือ ผลงานที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการผ่าตัดหัวใจได้จนสำเร็จ พ้นจากความเจ็บป่วย ทุกข์ทรมานได้อย่างเหนือความคาดหมาย ท่ามกลางความชื่นชมของครอบครัวและชุมชนที่ผู้ป่วยมีภูมิลำเนา หรือประสานงานจนผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบส่งต่อสู่หน่วยบริการระดับที่สูงกว่าอย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถชี้แจงไกล่เกลี่ยจนความขัดแย้งระหว่างฝ่ายผู้ป่วยและผู้ให้บริการสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองสิทธิ ฯ ที่เข้าสัมมนา ได้ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจหลายประการ เช่น การมีโครงสร้างที่ชัดเจนสำหรับรองรับงานคุ้มครองสิทธิ ในหน่วยบริการทุกแห่ง, การสร้างเครือข่ายประสานงานระหว่างผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองสิทธิ ต่างหน่วยบริการ, การเพิ่มช่องทางรับเรื่องราวร้องเรียน ร้องทุกข์ ผ่านสื่อสมัยใหม่, การทบทวนระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการประเภท และระดับต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ นพ.ธีรพล เจนวิทยา ผอ.สปสช. เขต ๑๐ อุบลราชธานี ได้แสดงจำนวนและประเภทของเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ซึ่งมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับปริมาณบริการของหน่วยบริการต่างๆ และได้เชิญชวนให้หน่วยบริการดำเนินกลวิธีต่างๆ เพื่อให้ปลอดข้อร้องเรียน ร้องทุกข์ ด้วยปฏิบัติการเชิงรุกที่เข้มข้นขึ้นในโอกาสต่อๆไป ส่วนในภาคบ่าย ได้มีการประชุมวิชาการ ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ สำหรับผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองสิทธิ และเจ้าหน้าที่หน่วยบริการที่สนใจ โดย ศ. แสวง บุญเฉลิมวิภาส จาก คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้บรรยายเรื่อง ปัญหาการฟ้องร้องทางการแพทย์ และแนวทางแก้ไข ณ ห้องประชุมอาคาร ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ชั้น ๖ มีผู้สนใจเข้ารับฟังถึง ๓๐๐ คน ทำให้บุลากรด้านบริการสุขภาพมีความรอบรู้และมั่นใจในการให้บริการทางการแพทย์ในหน่วยบริการภาครัฐ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นการดูแลผู้ป่วยหนักระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิตที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้ป่วย ตามพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐



Project Manager: นส.ศันสนีย์  คำจันทา
โทรศัพท์: 045-240591
มือถือ: 090-197-5238
E-mail: sunsanee.k@nhso.go.th
วันที่ลงข่าว: 21/01/2552