สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี

 
 
อุบลฯ เปิดตัวระบบการแพทย์ฉุ...

อุบลฯ เปิดตัวระบบการแพทย์ฉุ...

สปสช.หนุนทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยชีวิตคนเจ็บ คนป่วยวิกฤติ ด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉินระยะไกล ด้วยการสื่อสารไร้สายสมบูรณ์แบบสุดทันสมัย ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญพัฒนาหน่วยบริการทุกระดับ เพื่อลดอัตราป่วย อัตราตาย จากโรคภัยต่างๆ และเพื่อการเข้าถึงบริการการแพทย์ของผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ ซึ่งมักเกิดจากกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ อุบัติเหตุรุนแรง การเริ่มต้นรักษาพยาบาลเมื่อผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ไปถึงโรงพยาบาลแล้ว อาจไม่ทันท่วงที แม้จะเปิดช่องทางด่วนไว้บริการ สปสช. เขต 10 อุบลราชธานี และกองทุนพัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณบางส่วนแก่รพ.สรรพสิทธิประสงค์ตามหนังสือแสดงความจำนงที่ 005/2552 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 เพื่อจัดหาระบบติดตามสัญญาณชีพและจัดการฐานข้อมูลเพื่อสื่อสารแบบ real-time ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆของโรงพยาบาลศูนย์ กับรถปฏิบัติการฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชนต่างๆภายในจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีข้อมูลความเป็นไปของผู้ป่วยวิกฤติก่อนและระหว่างการนำส่งด้วยรถปฏิบัติการฉุกเฉิน อีกทั้งสามารถสั่งการรักษาที่จำเป็นก่อนที่ผู้ป่วยจะเดินทางถึงรพ.ศูนย์ เพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยวิกฤติให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวในรถปฏิบัติการฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ และที่แม่ข่าย ณ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ตั้งแต่ 1 กันยายน 2552 โดยมีดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ ผจก.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจสื่อสารไร้สาย บมจ.กสท. และผู้เชี่ยวชาญระบบ เทวัญ ด้วงคด จากบริษัทผู้จำหน่าย เป็นผู้ให้คำแนะนำระบบสื่อสารทางไกลแก่บรรดาเวชกรฉุกเฉินผู้ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ทันสมัยเข้ากับการแพทย์ฉุกเฉินและบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน ขยายบริการจากภายในโรงพยาบาล ไปสู่รถปฏิบัติการฉุกเฉินซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปหลายสิบกิโลเมตร ทำให้ศักยภาพของรถปฏิบัติการฉุกเฉินเหล่านั้นเพิ่มขึ้นเสมือนเป็นเตียงหนึ่งของไอซียู หรือห้องผู้ป่วยหนักขนาดย่อม ที่มีอุปกรณ์ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด สื่อสารสองทางกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตลอดเวลา



Project Manager: นางพรทิพย์  สาระบุตร
โทรศัพท์: 045-240591
มือถือ: 090-197-5236
E-mail: porntip.s@nhso.go.th
วันที่ลงข่าว: 02/09/2552