สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี

 
 
สปสช.แจง แนวทางการเบิก-จ่ายก...

สปสช.แจง แนวทางการเบิก-จ่ายก...

วันนี้(28 มีนาคม 2555)ที่ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบให้นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดประชุมผู้บริหาร และหัวหน้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชน จำนวนกว่า 500 คน เพื่อชี้แจงแนวทางการขอรับค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลเอกชนที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2555 ผู้เข้าและชี้แจงการวิเคราะห์และตัดสินอาการของผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งแนวทางการเบิกเงินชดเชย นายแพทย์วินัย กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายการสร้างความเสมอภาคของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ต้องการให้คนไทยได้รับการบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน คือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้ง พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและรวดเร็ว ซึ่งจะเริ่มบูรณาการร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 นี้เป็นต้นไป เมื่อประชาชนที่อยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ที่สุด ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน จะได้รับบริการตรวจรักษาทันที โดยไม่ต้องถูกถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายล่วงหน้า และต้องได้รับการส่งต่อไปรับบริการที่มีศักยภาพสูงขึ้นหากจำเป็น หรือรักษาจนกว่าอาการจะหายหรือทุเลา เนื่องจากการได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นนาทีวิกฤติเร่งด่วนของชีวิต เป็นตายเท่ากัน การรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยให้รอดชีวิตหรือลดความพิการได้ ในการจ่ายค่าชดเชยบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินให้แก่โรงพยาบาลเอกชน กรณีเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายของทั้ง 3 กองทุน ให้ดำเนินการตามปกติ กรณีเข้ารับบริการนอกเครือข่าย หากเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ได้รับไว้ในโรงพยาบาล ให้ใช้อัตราการเบิกจ่ายที่เรียกเก็บของกรมบัญชีกลาง และในกรณีที่รับผู้ป่วยรักษาเป็นผู้ป่วยใน จะจ่ายในอัตรา 10,500 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ ตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือดีอาร์จี นายแพทย์วินัยกล่าวต่อว่า ขณะนื้ ทั้ง 3 กองทุน ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการเบิกจ่าย โดยมีการปรับปรุงกฏระเบียบต่างๆ โดยกรมบัญชีกลางได้แก้ไขพระราชกฤษฎีกา ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการไม่ต้องสำรองจ่าย และสามารถชดเชยในอัตรา 10,500 บาท ต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ สำนักงานประกันสังคม ได้ปรับระบบการเบิกจ่ายกลางทางอิเลคทรอนิค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช.ได้ปรับปรุงประกาศเพื่อให้ใช้อัตรากลาง โดยให้สปสช.เป็นหน่วยเบิกจ่ายกลาง (Clearing house ) ให้แก่โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศที่ให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ส่วนโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมี่ยม หรือเอกชนชั้นหนึ่ง เช่นโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ยินดีร่วมให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าขั้นวิกฤติหรือเร่งด่วนที่ไปใช้บริการ ภายใต้มาตรฐานและรับการชดเชยในอัตรา 10,500 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก นอกจากนี้จะให้สปสช.จัดระบบประสานงานการชดเชยกับกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ และให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติพัฒนาศักยภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล และระบบส่งต่อผู้ป่วยให้เข้มแข็งขึ้น ระ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สปสช.จะได้เร่งประชาสัมพันธ์ สื่อสารเรื่องภาวการณ์ป่วยฉุกเฉิน เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชน และวิธีการรับบริการโรงพยาบาลเพื่อให้เข้าใจตรงกัน 28มีนาคม 2555



Project Manager: นส.มาริสา  บุญท้าว
โทรศัพท์: 045-240591
มือถือ: 090-197-5240
E-mail: marisa.b@nhso.go.th
วันที่ลงข่าว: 29/03/2555