สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี

 
 
โรงพยาบาลเอกชน พร้อม...

โรงพยาบาลเอกชน พร้อม...

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต10 อุบลราชธานี จัดประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุข สถานพยาบาลเอกชน กรณีอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน 3 กองทุน ณ ห้องประชุมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต10 อุบลราชธานี โดยวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมด้านความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามแนวทางการขอรับค่าบริการสาธารณสุขได้ถูกต้อง แพทย์หญิงขจีรัตน์ ปรักเอโก รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต10 อุบลราชธานี ประธานการประชุมกล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ในด้านการดูแลสิทธิประโยชน์สุขภาพประชาชน ภายในระยะเวลา 10 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพกลายเป็นระบบสากลในด้านการดูแลสุขภาพประชาชน รวมทั้งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการคุณภาพมาตรฐาน ในส่วนด้านนโยบายของรัฐบาลมีการปรับสิทธิการรักษาต่างๆ สำหรับประชาชนให้เท่าเทียมกัน กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าท่านจะใช้สิทธิระบบใด สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกที่ เพียงแค่ท่านแสดงบัตรประจำตัวประชาชนกับเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ทั้งนี้อยากขอความร่วมมือทางสถานพยาบาลเอกชนในการรับผู้ป่วยเข้ารักษาพยาบาล พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางการชดเชยกรณีผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน เพื่อสร้างความเข้าใจและถือเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ตามที่รัฐบาลมีนโยบายบูรณาการ 3 กองทุน ได้แก่ 1) กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง 2) กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 3) กองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม เพื่อการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ์ ของระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน เริ่มต้นที่ผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยมีแนวคิดให้ ?ผู้ป่วยฉุกเฉิน?ได้รับบริการโดยไม่ต้องถามสิทธิ์ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและระดับเร่งด่วน จะต้องรับผู้ป่วยไว้จนผู้ป่วยอาการทุเลา สามารถส่งกลับบ้านหรือส่งต่อ/ส่งกลับสู่รพ.ในระบบต้นสังกัดได้ ซึ่งการดำเนินการนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุน ที่เดิมมีปัญหาในการเข้ารับบริการฉุกเฉินในรพ.ที่อยู่นอกเครือข่าย ทำให้ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน และอาจจะถูกบ่ายเบี่ยงการรักษาพยาบาล รวมถึงเสียโอกาสจากขั้นตอนในการตรวจสอบสิทธิ์ โดยเฉพาะต้องการแก้ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่ต้องเสียโอกาสจากการตรวจสอบสิทธิ์ และรพ.ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินค่ารักษา แนวทางใหม่ที่ดำเนินการนี้ จะปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ทุกรพ.ไม่ต้องถามสิทธิ์การรักษาพยาบาลจากผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย รพ.รักษาทันที แล้วจึงมาเบิกจ่ายจากกองทุนที่เป็นสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแทนภายใต้แนวคิด ?เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน? ทั้งนี้ผู้ป่วยฉุกเฉินตามคำนิยามดังกล่าวสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนไม่สามารถเรียกเก็บเงินใดๆ กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ว่าสิทธิ์ใดก็ตาม โดย สปสช. จะเป็นหน่วยงานกลางในการจ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาลไปก่อน และค่อยเรียกเก็บกับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์อยู่ในภายหลัง ซึ่งหากประชาชนสงสัยติดต่อ สายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669, สายด่วนสปสช. 1330 สำหรับการประชุมในครั้งนี้มีโรงพยาบาลเอกชนใน สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี ประกอบด้วย มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี ได้เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมในนโยบายนี้ด้วย



Project Manager: นส.มาริสา  บุญท้าว
โทรศัพท์: 045-240591
มือถือ: 090-197-5240
E-mail: marisa.b@nhso.go.th
วันที่ลงข่าว: 05/04/2555